บุคลิกภาพ INFJ (ผู้สนับสนุน) มีลักษณะเฉพาะตัว ทั้งความเห็นอกเห็นใจ อุดมคติ และหลักยึดทางศีลธรรมที่มั่นคง คุณสมบัติเหล่านี้ทำให้ผู้มีบุคลิกประเภทนี้เป็นทั้งเพื่อน คนร่วมงาน และสมาชิกในชุมชนที่ไว้วางใจได้ ทุกคนต่างรู้ดีว่าสามารถพึ่งพาได้ อย่างไรก็ตาม คุณสมบัติเหล่านี้ก็อาจเป็นอุปสรรคเมื่อต้องตั้งขอบเขตและปฏิเสธคำขอเช่นกัน
สำหรับ INFJ หลายคน การปฏิเสธผู้อื่นมักกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างความต้องการช่วยเหลือผู้อื่นกับความจำเป็นที่จะต้องดูแลตัวเอง หลายคนยอมรับในสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับคุณค่าในใจ หรือล่วงเกินขีดจำกัดของตัวเองจนกระทบต่อความเป็นอยู่ การเรียนรู้ที่จะปฏิเสธอย่างสุภาพและมั่นใจจึงเป็นทักษะสำคัญที่ต้องพัฒนา เพราะจะช่วยให้ INFJ ให้เกียรติความต้องการของตัวเอง พร้อมรักษาความสัมพันธ์ที่ดีงามไว้ได้
หากคุณสนใจบทบาทของบุคลิกภาพที่มีต่อวิธีการปฏิเสธ ลองอ่านบทความของเราเรื่อง “ปฏิเสธอย่างสุภาพ: บุคลิกภาพกับศิลปะในการสื่อสารขอบเขต” ดูนะคะ
บทความนี้จะพาคุณไปสำรวจความท้าทายเฉพาะที่ INFJ ต้องเผชิญเมื่อปฏิเสธ พร้อมแนะนำวิธีที่ช่วยให้ตั้งขอบเขตของตนเองอย่างมั่นใจ เมื่อเข้าใจตัวเองลึกซึ้งขึ้นและเรียนรู้เทคนิคที่เหมาะสม ผู้มีบุคลิกภาพ INFJ จะสามารถบริหารจัดการคำร้องขอและรักษาขอบเขตของตัวเองได้อย่างสมดุล
เข้าใจความท้าทายของ INFJ กับการพูด “ไม่”
เมื่อเรามองผ่านแว่นของ ทฤษฎีบุคลิกภาพ จะพบว่าลักษณะนิสัยแต่ละด้านมีผลต่อวิธีที่แต่ละคนมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น กระบวนการตัดสินใจ และการรักษาขอบเขตส่วนตัว
ในฐานะบุคลิกภาพแบบ หยั่งรู้ และ เจ้าระเบียบ INFJ โดยส่วนใหญ่แล้วจะมีเป้าหมายชีวิตระยะยาวที่ชัดเจน คุณสมบัติเหล่านี้ยังเป็นรากฐานให้ INFJ ยึดมั่นในคุณค่าและวิถีชีวิตของตนเอง ด้วยความที่รู้อย่างชัดเจนว่าตนเองเชื่ออะไร ต้องการอะไร และควรทำอย่างไรเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย จึงมักจะรู้ทันทีว่าเมื่อใดที่คำขอขัดแย้งกับจริยธรรมหรือภาพรวมในอนาคตที่ตั้งไว้
ด้วยลักษณะหยั่งรู้และ แสดงอารมณ์ คนที่เป็น INFJ ยังรับรู้อารมณ์และพลังงานของผู้อื่นได้อย่างลึกซึ้ง เวลาต้องตั้งขอบเขตหรือปฏิเสธคำขอ มักจะกังวลว่าจะทำให้คนที่เคารพหรือห่วงใยผิดหวัง หรือกลัวจะเกิดความขัดแย้งในความสัมพันธ์ INFJ ให้ความสำคัญกับความกลมเกลียในกลุ่มสังคม การต้องพูด “ไม่” อาจทำให้สิ่งนั้นสั่นคลอนได้
ธรรมชาติเก็บตัว (เก็บตัว) ของ INFJ ก็ชี้ให้เห็นว่าพวกเขาไม่ชอบความขัดแย้ง และการตอบสนองต่อคำขอของคนอื่นอาจทำให้รู้สึกหมดพลังได้เช่นกัน การปฏิเสธจึงอาจดูเหนื่อยเกินไป จน INFJ ยอมตอบตกลงในบางครั้ง เพื่อเป็นการประนีประนอม หรือเพียงเพื่อตัดบทสนทนาที่กำลังถ่วงกำลังใจของตัวเอง
นอกจากนี้ ยังควรสังเกตความต่างระหว่างบุคลิกแบบ มั่นใจ และ ร้อนรน อีกด้วย INFJ แบบร้อนรนมักจะสงสัยในตัวเองและไวต่อคำวิจารณ์ ซึ่งสองสิ่งนี้ยิ่งทำให้การปฏิเสธเป็นเรื่องยากยิ่งขึ้น หากเป็น INFJ แบบมั่นใจ มักจะเชื่อมั่นในตัวเองมากกว่า ไม่รู้สึกโดนกระทบจากคำวิจารณ์ง่าย และตัดสินใจได้เฉียบขาดกว่า จึงช่วยให้การปฏิเสธง่ายขึ้นบ้าง
บุคลิกภาพ INFJ แบบมั่นใจ และ INFJ แบบร้อนรน มีความแตกต่างกันในหลายแง่มุม ลองอ่านเพิ่มเติมได้ที่ บทความนี้
4 กลยุทธ์สำหรับ INFJ ในการปฏิเสธอย่างมีประสิทธิภาพ
เมื่อเข้าใจความท้าทายเฉพาะของ INFJ แล้ว ถึงเวลามาโฟกัสแนวทางที่ใช้ได้จริง การปฏิเสธคำขออาจดูยากแต่ขอให้จำไว้ว่าการตั้งขอบเขตคือ “ทักษะ” และบางทักษะก็ต้องใช้เวลา ฝึกฝน กลยุทธ์ต่อไปนี้ปรับให้เหมาะกับจุดแข็งและความชอบของบุคลิกภาพ INFJ โดยเฉพาะ ช่วยให้สามารถพูด “ไม่” ได้ด้วยวิธีที่ยังคงเคารพในความเห็นอกเห็นใจและความต้องการของตนเอง
เมื่อได้นำเทคนิคเหล่านี้ไปใช้ INFJ จะพบว่าการตั้งขอบเขตอย่างมั่นใจเป็นไปได้โดยไม่สูญเสียความกลมเกลียหรือความจริงใจในความสัมพันธ์ที่ตนให้คุณค่า
1. สร้างคำประกาศภารกิจส่วนตัว
INFJ จะได้ประโยชน์มากหากสร้างคำประกาศภารกิจ (mission statement) ส่วนตัว ที่ระบุคุณค่าหลัก เป้าหมาย และลำดับความสำคัญในชีวิตให้ชัดเจน สรุปให้กระชับว่าสิ่งใดสำคัญที่สุดและเป้าหมายชีวิตคืออะไร ทุกครั้งที่มีคำขอเข้ามา INFJ จะสามารถใช้คำประกาศนี้เป็นหลักในการพิจารณาว่าจะตอบรับหรือปฏิเสธ หากคำขอนั้นขัดแย้งกับสิ่งที่ตั้งใจไว้ หรือทำให้ต้องลังเลในหลักการของตัวเอง ก็สามารถปฏิเสธได้อย่างมั่นใจ เพราะรู้ว่ากำลังซื่อสัตย์ต่อตัวเอง
การตัดสินใจโดยมี mission statement เป็นพื้นฐาน จะช่วยให้มั่นใจและมีจุดยืนที่ชัดขึ้น และเมื่อปฏิเสธก็อธิบายเหตุผลได้ง่ายกว่า พร้อมให้คนอื่นเข้าใจที่มา เมื่อสื่อสารภารกิจส่วนตัวอย่างชัดเจนและต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ INFJ จะสามารถบริหารความคาดหวังของผู้อื่นได้ดีขึ้น เพราะคนรอบข้างก็จะรู้ว่าคาดหวังอะไรจาก INFJ ได้ตามคุณค่าและเป้าหมายของเขา
2. เปลี่ยนมุมมองใหม่ต่อการปฏิเสธ
มี INFJ บางคนที่มองว่าการพูด “ไม่” คือเรื่องในแง่ลบ แต่สามารถเปลี่ยนมุมมองได้โดยไม่ต้องยึดติดกับความคิดเดิม การปฏิเสธไม่ควรเป็นเรื่องเห็นแก่ตัว แต่ควรคิดว่าเป็นวิธีสร้างพื้นที่ให้กับสิ่งที่สำคัญจริง ๆ หลักคิดแบบนี้จะช่วยเปลี่ยนวิธีตั้งขอบเขตและจัดการพันธะผูกพันต่าง ๆ ให้ดีขึ้น
ด้วยการปฏิเสธเรื่องที่ไม่สอดคล้องกับลำดับความสำคัญ บุคลิกภาพ INFJ จะมีโอกาสได้เต็มที่กับกิจกรรมและความสัมพันธ์ที่มีความหมายมากกว่า มุมมองใหม่นี้เปลี่ยนการพูด “ไม่” จากการปฏิเสธเป็นการยืนยันคุณค่าของตนเองและการลงทุนในการพัฒนาตัวเอง การพูด “ไม่” ต่อสิ่งหนึ่งจึงเท่ากับการพูด “ใช่” ให้กับอีกเรื่องที่สำคัญกว่า ในที่สุดวิธีนี้ก็เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ทำให้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริงกับสิ่งที่ INFJ ให้ความสำคัญ
3. หาแบบอย่างที่ดี
อีกกลยุทธ์ที่ INFJ ใช้ได้คือ ศึกษาจากบุคคลที่สามารถตั้งขอบเขตและซื่อสัตย์ต่อคุณค่าในตัวเองได้ดี บุคคลเหล่านี้อาจเป็นบุคคลสาธารณะ เมนเทอร์ เพื่อน ครอบครัว หรือใครสักคนที่รู้จักโดยตรง การสังเกตเทคนิคและวิธีการของคนเหล่านี้ช่วยให้ INFJ ได้แนวคิดใหม่ ๆ และปรับใช้กับตนเองได้เหมาะสมกับสถานการณ์
แบบอย่างที่ดีเปรียบเสมือนแรงบันดาลใจและแนวทางขณะที่ INFJ พัฒนาทักษะการปฏิเสธ หากสังเกตแบบอย่างเหล่านั้น ก็ลองดูว่าพวกเขาสมดุลระหว่างความต้องการส่วนตัวกับความรับผิดชอบและความสัมพันธ์อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นภาษาที่ใช้ปฏิเสธ จังหวะในการแสดงขอบเขต หรือวิธีที่ยังคงเคารพและใส่ใจผู้อื่น หากเป็นไปได้ก็อาจขอคำแนะนำหรือแชร์ประสบการณ์จากคนเหล่านั้นโดยตรง เรื่องราวและคำแนะนำของพวกเขามักเต็มไปด้วยเคล็ดลับการสื่อสารอย่างมั่นใจและแน่วแน่
4. ฝึกยืนยันคุณค่าส่วนตัวกับตัวเอง
ตรงนี้เหมาะกับ INFJ ที่อยากเสริมความมั่นใจในการพูด “ไม่” โดยการเตือนตัวเองถึงจุดแข็ง คุณค่า และความสำเร็จของตัวเองเป็นประจำ สิ่งนี้สำคัญสำหรับคนที่มักให้ความสำคัญกับความต้องการของผู้อื่นมากกว่าของตัวเอง
สิ่งสำคัญอีกอย่าง คือ การนึกถึงสถานการณ์ในอดีตที่เคยตั้งขอบเขตได้สำเร็จ และให้รางวัลกับความก้าวหน้า แม้จะเล็กน้อยเพียงใดก็ตาม เช่น การสังเกตว่าตัวเองพูด “ไม่” ได้สำเร็จ (จะดีมากถ้าไม่มีความรู้สึกผิด) หรือการผ่านการสนทนาที่ยากลำบากจนตกลงกันได้อย่างเหมาะสมโดยไม่ต้องยอมเสียหลักการของตัวเอง การยอมรับความสำเร็จจะช่วยเสริมพลังใจและความมั่นใจให้กล้าพูด “ไม่” เมื่อถึงเวลาจำเป็น
INFJ บางคนก็อาจพูด “ไม่” บ่อยเกินไป
แม้ทักษะการปฏิเสธจะสำคัญกับ INFJ แต่อีกด้านหนึ่งก็ควรระวังไม่ให้ขอบเขตส่วนตัวแข็งทื่อหรือเข้มงวดเกินไปด้วย ดังที่ได้กล่าวไว้ว่า INFJ มีจริยธรรมแรงกล้าและความอุดมคติสูงทำให้บางครั้งตัดสินใจแบบสุดโต่ง นั่นอาจทำให้ INFJ ปฏิเสธคำขอบ่อยกว่าความจำเป็น หรือปฏิเสธสิ่งที่อาจเป็นประโยชน์ต่อตัวเองหรือผู้อื่น สิ่งสำคัญคือหาสมดุลระหว่างการยึดมั่นในหลักการกับการเปิดใจรับประสบการณ์ใหม่ ๆ
เพื่อไม่ให้แข็งทื่อเกินไป INFJ ควรใช้เวลาไตร่ตรองแต่ละคำขอหรือโอกาสเป็นรายกรณี ถามตัวเองว่าการพูด “ใช่” ครั้งนี้จะช่วยสร้างความสัมพันธ์ กระตุ้นการเติบโตส่วนตัว หรือสร้างประโยชน์ส่วนรวมได้หรือไม่ เปิดใจพร้อมก้าวออกจากขอบเขตเดิมโดยเฉพาะเมื่อข้อดีมีมากกว่าความเสี่ยง INFJ อาจนึกไว้เสมอว่าหลักการนั้น สำคัญ แต่บ่อยครั้งความยืดหยุ่นและความสามารถในการปรับตัวก็มีคุณค่าเท่าเทียมกัน หากรักษาสมดุลที่ดีระหว่างขอบเขตและการเปิดรับโอกาส ก็จะช่วยให้ INFJ ตัดสินใจที่ตรงต่อคุณค่าและเอื้อต่อการเติบโตทั้งด้านชีวิตส่วนตัวและหน้าที่การงานด้วย
สรุปท้ายบท
ท้ายที่สุดแล้ว การเรียนรู้ที่จะพูด “ไม่” คือโอกาสในการเติบโตของ INFJ มันคือการแสวงหาสมดุลระหว่างความเห็นอกเห็นใจ อุดมคติ และความจำเป็นด้านการดูแลตัวเองอย่างแท้จริง โดยการพัฒนาคำประกาศภารกิจส่วนตัว เปลี่ยนมุมมองต่อการปฏิเสธ เลือกแบบอย่าง และฝึกยืนยันคุณค่ากับตัวเอง บุคคลที่มีบุคลิกภาพนี้จะค่อย ๆ สร้างความมั่นใจและทักษะในการตั้งขอบเขตที่ดีต่อสุขภาพ
เมื่อเชี่ยวชาญศิลปะการปฏิเสธอย่างมั่นใจและละมุนละม่อม INFJ จะสามารถปกป้องความเป็นอยู่ของตัวเอง รวมถึงสานสัมพันธ์และลงมือกับสิ่งที่ตนให้ความสำคัญอย่างลึกซึ้งและแท้จริง
คุณคือ INFJ ใช่ไหม? แล้วคุณมีแนวโน้มเรื่องการพูด “ไม่” อย่างไรบ้าง คุณเห็นว่าตัวเองเป็นคนที่ชอบเอาใจคนอื่น หรือมักยึดมั่นในขอบเขตส่วนตัวมากเกินไป? เชิญแบ่งปันประสบการณ์และความคิดเห็นของคุณในคอมเมนต์ด้านล่างได้เลยค่ะ
อ่านเพิ่มเติม
- การแสดงออก ขอบเขต และความรัก: ผู้สนับสนุน (INFJ) กับความไม่สบายใจเมื่อพูดในสิ่งที่คิด
- The Courageous Advocate (INFJ)
- บุคลิกภาพและการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพในที่ทำงาน
- แหล่งความเครียดที่ใหญ่ที่สุดสำหรับผู้สนับสนุน (INFJ) คืออะไร?
- อยากรู้จัก INFJ หรือบุคลิกภาพทั้ง 16 ประเภทให้มากขึ้น? รับสิทธิ์เข้าถึงงานวิจัยและข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับบุคลิกภาพแต่ละแบบได้ไม่จำกัดกับ 16Personalities Pro Suite